วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

การรักษาโรคหัวใจอย่างถูกวิธี


ก่อนจะเป็นโรคหัวใจนั้นคนส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แม้บางคนตรวจสุขภาพทุกปีจึงได้ทราบและรู้ตัวล่วงหน้า ถือว่าเป็นความโชคดีที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น แต่ในบางรายไม่เคยตรวจหาความผิดปกติเลย จนกระทั่งเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นทำให้เสียชีวิตกะทันหัน โดยภาวะหัวใจล้มเหลวอันเกิดจากไขมันและหินปูนเกาะสะสมตามทางเดินหลอดเลือดจนตีบหรืออุดตัน ซึ่งทั้งสองกรณีแพทย์มักจะต้องให้การรักษาทางยาก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ หากอาการรุนแรงกว่านั้นหรือว่าไม่ดีขึ้น จึงใช้วิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนแทน แต่ถ้ายังไม่สามารถใช้วิธีการรักษาทางยาและขยายหลอดเลือดได้อีก แพทย์จึงจะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายที่เลือกทำการรักษาโรคหัวใจ


ก่อนที่จะทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ แพทย์มักจะอัลตราซาวนด์ และตรวจสวนหัวใจในการวินิจฉัยลักษณะและสภาวะของหลอดเลือดหัวใจอย่างละเอียดเพื่อดูการตีบแคบ ตำแหน่งการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนจะทำในบริเวณที่มีการตีบตันเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกครั้ง โดยแพทย์จะใส่หลอดที่มีลักษณะยาว ผอม และปลายข้างหนึ่งมีบอลลูน ซึ่งยังไม่พองตัวเข้าไปในเส้นเลือดจนถึงตำแหน่งที่เกิดการตีบหรืออุดตันจึงถูกทำให้พองตัวและขยายหลอดเลือดบริเวณที่ตีบ แล้วจึงนำบอลลูนออก ในปัจจุบันแพทย์ยังนิยมใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดซึ่งมีลักษณะเป็นตาข่ายโลหะในจุดที่ขยายหลอดเลือดเพื่อป้องกันการกลับมาตีบซ้ำ



การรักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เรียกกันว่า การผ่าตัดบายพาสใช้หลักการเดียวกับการตัดถนนใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งก็คือหลอดเลือดที่มีปัญหาตีบตัน การผ่าตัดบายพาสจะนำหลอดเลือดดำที่ขา หลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกหรือหลอดเลือดแดงที่แขนมาตัดต่อคร่อมหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อทำทางเดินเลือดใหม่โดยไม่ต้องผ่านหลอดเลือดที่อุดตัน การทำบายพาสสามารถทำได้มากกว่าหนึ่งจุด ในเส้นเลือดเดี่ยวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น